อ่านบทความ

วันดินโลก 2565

     จากการที่สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Sciences–IUSS) ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล ประกาศนียบัตร และประกาศสดุดีพระเกียรติคุณ “นักวิทยาศาสตร์ดิน เพื่อมนุษยธรรม” (The Humanitarian Soil Scientist) แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และต่อมาองค์การสหประชาชาติได้ประกาศพระเกียรติคุณ โดยให้การรับรองให้วันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพเป็นวันดินโลก (World Soil Day) โดยในปีนี้กรมพัฒนาที่ดิน ร่วมกับสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย สมาคมอนุรักษ์ดินและน้ำ สมาคมดินโลก และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้กำหนดจัดงานวันดินโลก 2564 ในหัวข้อ “Halt soil salinization, boost soil productivity : พิชิตดินเค็ม เติมเต็มผลผลิต สร้างชีวิตเกษตรกร” 

     โดยมีเป้าหมายหลักที่ต้องการผลักดันให้เกิดข้อสรุปหรือผลกระทบเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของโลก เนื่องจากในปัจจุบันทั่วโลกมีพื้นที่มากกว่า 5.2 ล้านไร่ ที่ประสบปัญหาดินเค็ม จึงมีความจำเป็นต้องจัดการกับความเค็มของดิน โดยการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับดินและการจัดการดินเค็มอย่างครบวงจร เพื่อส่งเสริมให้รัฐบาล องค์กร ชุมชน และประชากรโลก มุ่งมั่นที่จะปรับปรุงดินเค็มในเชิงรุก เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการเพาะปลูกพืชและสร้างแหล่งผลิตอาหารให้มากยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นความสำคัญของการร่วมมือกันป้องกันและแก้ไขปัญหาของดิน ซึ่งจะส่งผลถึงความมั่นคงและความปลอดภัยทางด้านอาหาร เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

     นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายที่ต้องการขจัดความอดอยากหิวโหย หรือ Zero Hunger ให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมขององค์กรและบุคคลในรูปแบบของการร่วมมือ และสร้างเครือข่ายผ่านนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือในการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดินและการรักษาระบบนิเวศให้สมบูรณ์ เพื่อเพิ่มพื้นที่ผลิตอาหารและช่วยสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์